การล่วงละเมิดทางเพศเป็นความอัปยศ และเราต้องไม่ทนอีกต่อไป

เมื่อต้นสัปดาห์ที่แล้ว คลิปวิดีโอที่ผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.เพชรบูรณ์ ล่วงละเมิดทางเพศเด็กนักเรียนหญิงได้กลายเป็นข่าวหน้าหนึ่งของสำนักข่าวทั่วประเทศ ทำให้มีประชาชนจำนวนมากออกมาเรียกร้องให้ผู้อำนวยวัย 59 ปีคนนี้ถูกไล่ออกและถูกจำคุก

นั่นคือบทลงโทษที่เราหวังจะได้เห็นในประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ในกรณีนี้ มันกลับไม่เป็นเช่นนั้น

หลังจากที่นายณรงค์วิทย์ พาคำ ผอ.ผู้กระทำการล่วงละเมิดทางเพศให้คำรับสารภาพกับตำรวจ เขาได้รับการประกันและปล่อยตัวไปในวันเดียวกัน

เริ่มแรก สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้มีคำสั่งให้แต่งตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง และหากอ้างอิงจากเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ผู้อำนวยคนนี้จะต้องถูกไล่ออกหากมีความผิดจริง

แต่ทว่าในท้ายสุด เรื่องนี้ก็ถูกกวาดเข้าใต้พรม

การที่เรื่องจบแบบนี้ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดมากนักสำหรับคนไทย

การกระทำอนาจารที่กระทำโดยผู้มีอิทธิพล น้อยครั้งนัก ที่เหยื่อจะได้รับความยุติธรรมหรือที่ผู้กระทำผิดจะได้รับการลงโทษ

ความอยุติธรรมกลายเป็นเรื่องปกติ หลายคนทำได้เพียงส่ายหัวให้กับมัน

แต่การที่เรายอมจำนนและปล่อยให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำนั้น เป็นการบ่งบอกว่าสังคมเรานั้นเป็นเช่นไรได้อย่างดี เรากำลังใช้ชีวิตอยู่ในสังคมที่เพิกเฉยต่อเสียงเรียกร้องของเหยื่อที่โดนกระทำ สังคมที่สนับสนุนให้ผู้มีอำนาจสามารถล่วงละเมิดทางเพศผู้อื่นได้โดยไม่ต้องได้รับการลงโทษ และสังคมที่ไม่เดินไปข้างหน้าเพราะมีความไม่เท่าเทียมและการกดขี่กีดขวางทางอยู่

และหากพูดกันตามตรง เราทุกคนควรละอายใจ

เราควรละอายใจและถามตัวเราเองว่า นี่คือสังคมที่เราอยากใช้ชีวิตอยู่ และส่งต่อให้ลูกหลานของเราจริงๆ หรือไม่

จะต้องมีเหยื่ออีกกี่คนที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยไม่ได้รับความยุติธรรม คนผิดลอยนวล โดยสิ่งที่เราทำได้มีเพียงการยอมปล่อยให้มันเป็นไป

เมื่อไหร่กันที่พวกเราทุกคนจะรู้สึกปลอดภัย

สิ่งที่น่ากลัวเสียยิ่งกว่าอาชญากรรมใดๆ คือวัฒนธรรมการปล่อยให้คนชั่วลอยนวล ที่ไม่เพียงปล่อยให้ผู้กระทำผิดลอยตัว แต่การไม่มีบทลงโทษเช่นนี้ เป็นการสนับสนุนทางอ้อมว่าพวกเขาสามารถกระทำความผิดต่อไปได้เพียงแค่มีอำนาจ

วัฒนธรรมลอยนวลในประเทศไทย โดยเฉพาะในกรณีการล่วงละเมิดทางเพศ นั่นเป็นใบเปิดทางให้ ‘ผู้ล่า’ ได้ใจ เพราะไม่มีอะไรจะมาลงโทษพวกเขาได้

และหลายครั้ง ความไม่รู้สึกผิดชอบชั่วดีก็แสดงอยู่บนใบหน้าของผู้กระทำผิด

ตอนที่ผู้สื่อข่าวไทยรัฐไปที่บ้านของนายณรงค์วิทย์เพื่อสอบถามเกี่ยวกับข้อกล่าวหา เขาแสร้งทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้และอ้างว่าสายตาสั้นเลยต้องเข้าใกล้นักเรียน

นายณรงค์วิทย์ยังกล่าวโดยไม่มีความรู้สึกผิดใดๆ บนใบหน้าว่าเขาจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้และจะฟ้องคนที่สร้างข่าวลือนี้ขึ้นมากล่าวหาเขาด้วย

และสิ่งที่แย่กว่าการปล่อยให้คนผิดลอยนวลคือการโยนความอับอายให้แก่ผู้ถูกกระทำ

เหยื่อ โดยเฉพาะผู้หญิง ต้องใช้ชีวิตต่อพร้อมกับความอับอายจากอาชญากรรมที่ตนเองไม่ได้ก่อ สิ่งที่ตัวเหยื่อเองควบคุมไม่ได้ สิ่งที่ควรเป็นความอัปยศอดสูของผู้กระทำผิดกลับกลายเป็นผู้ถูกกระทำเองที่ต้องมาแบกรับ

ผู้ถูกกระทำต้องจมอยู่กับความสงสัยไปตลอดว่าเหตุใดสิ่งนี้จึงต้องเกิดขึ้นกับเขา หรือทำไมชีวิตและร่างกายของเขาจึงมีความหมายเพียงน้อยนิดจนทำให้คนที่ทำร้ายเขาสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างไร้ความผิดและความกังวล

ผลสำรวจเมื่อปีที่แล้วโดยบริษัทวิจัย YouGov รายงานว่าหนึ่งในห้าของคนไทยมีประสบการณ์โดนล่วงละเมิดทางเพศและจากข้อมูลของสหประชาชาติพบว่าเกือบ 90% ของคดีข่มขืนไม่ได้ถูกรายงาน

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เพิ่มความพยายามในการแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศโดยสนับสนุนให้ผู้หญิงออกมาแจ้งความและสัญญาว่าจะคุ้มครองผู้ที่ออกมาแสดงตน

นี่เป็นเส้นทางที่ถูกต้องที่เราควรเดิน แต่มันก็ยังไม่เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาที่หยั่งรากลึกนี้ เราจะต้องมีกฎหมายที่เข้มงวดในการตรวจสอบผู้มีอำนาจ และการลงโทษผู้กระทำผิดอย่างมีประสิทธิภาพ

และนั่นเริ่มต้นได้ด้วยการหยุดเพิกเฉย และการหาข้ออ้างให้ความอยุติธรรมเหล่านี้ดำเนินต่อไปได้ การล่วงละเมิดทางเพศเป็นอาชญากรรม ไม่ว่าจะในบริบทไหนหรือไม่ว่าใครเป็นผู้เกี่ยวข้อง

ตามจริงแล้ว ความยุติธรรมไม่ควรจะเป็นสิ่งที่ได้มายากเกินไปสำหรับประเทศไทย เมืองพุทธที่คนดีควรได้ดีและคนชั่วควรได้ชั่ว

หรือว่านั่นจะเป็นเพียงแค่คำลวงหลอก

ผู้เขียน Pear Maneechote

ผู้แปล Salisa Traipipitsiriwat

COVID-19

Ivermectin not effective in treating Covid-19, joint Mahidol-Oxford study shows

Ivermectin is not shown to be effective against Covid-19 in clinical trials according to the findings of a joint...

Latest article